Language

ZUIHODEN  The mausoleum Masamune Date of the first feudal load  of Sendai-Han

กล่องคำถาม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับซุยโฮเด็น

ตระกูลดาเตะ แคว้นเซนได และคำถามอื่น ๆ

F-1. โปรดบอกเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของตระกูลดาเตะ

ตระกูลดาเตะเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงมานาน มีการใช้ตราสัญลักษณ์ประจำตระกูล “มิบิกิเรียว (วงกลมที่มีเส้นแนวนอนสามเส้น)” “คิคุ (เบญจมาศ)“ “คิริ (ต้นพอโลเนีย)” “โบะตัน (ดอกโบตั๋น)” “คานิโบะตัน (ปูและดอกโบตั๋น)” “คุโย (เทพนพเคราะห์)” และ “ยูกิอุสึ (หิมะบาง)” นอกเหนือจาก “ทาเกะนิซุซุเมะ (นกกระจอกในต้นไผ่)” ซึ่งเป็นตราประจำตระกูล ตามแผนภูมิแสดงวงศ์ตระกูลหรือเชื้อสายคังเอ พบว่า ในยุคของตระกูลดาเตะรุ่นที่ 1 โทโมมูเนะ “มิบิกิเรียว” เป็นตราที่มีการนำตราสัญลักษณ์ในม่านที่ได้รับมาจากโชกุนมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลโดยแก้ให้เป็น “มิบิกิเรียว” ในภายหลัง และ “ทาเกะนิซุซุเมะ” เป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสมัยของฮารุมูเนะหัวหน้าตระกูลดาเตะรุ่นที่ 15 ส่วน “คิคุ” และ “คิริ” นั้น เป็นตราสัญลักษณ์ที่ได้รับมาจากโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ อีกทั้ง “โบะตัน” ก็เป็นตราสัญลักษณ์ที่ได้รับมาจากตระกูลโคโนะเอะในยุคสมัยของสึนามูระ (ผู้ครองแคว้นคนที่ 4) หัวหน้าตระกูลดาเตะรุ่นที่ 20 ซึ่งโยชิมูระ (ผู้ครองแคว้นคนที่ 5) หัวหน้าตระกูลดาเตะรุ่นที่ 21 ได้ปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์นี้เป็น “คานิโบะตัน”

F-2. ทำไมตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของตระกูลดาเตะจึงเป็น “ทาเกะนิซุซุเมะ”

“ทาเกะนิซุซุเมะ” เป็นที่รู้จักกันในฐานะตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของตระกูลดาเตะ แต่ดั้งเดิมแล้ว เป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของตระกูลฟูจิวาระคันชูจิและตราสัญลักษณ์ที่ได้รับมาจากตระกูลอูเอะซุงิซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในภูมิภาคคันโตในสมัยมุโรมาจิ สาเหตุที่กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของตระกูลดาเตะนั้น เนื่องจากทางตระกูลอูเอะซุงิได้มอบให้กับตระกูลดาเตะเพื่อเป็นของตอบแทนในการที่ดาเตะ ทาเนมูเนะหัวหน้าตระกูลดาเตะรุ่นที่ 14 ได้ให้ซาเนะโมโตะลูกชายคนที่ 3 เป็นบุตรบุญธรรมของตระกูลอูเอะซุงิในปี 1542 และได้กลายเป็นตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลแทน “มิบิกิเรียว” นับตั้งแต่ฮารุมูเนะหัวหน้าตระกูลดาเตะรุ่นที่ 15

F-3. โปรดบอกเกี่ยวกับลูกหลานคนปัจจุบันของดาเตะ มาซามูเนะ

หัวหน้าตระกูลดาเตะปัจจุบันคือ ดาเตะ ยาซมูเนะหัวหน้าตระกูลดาเตะรุ่นที่ 34 และหัวหน้าตระกูลเซนไดดาเตะรุ่นที่ 18

F-4. ชื่อสถานที่เซนไดถูกกำหนดขึ้นเมื่อใด

ในหนังสือเล่มที่ 20 ของ “บันทึกเทซังโคจิกะคิโระคุ” บันทึกไว้ว่า “มาซามูเนะได้ไปเยี่ยมชมปราสาทเซนไดระหว่างเวลา 7 โมงเช้าถึง 9 โมงเช้าในวันที่ 24 ธันวาคม ปี 1600 และเริ่มครองพื้นที่เพื่อสร้างปราสาทของปราสาทเซนไดและปราสาทอาโอบะ และได้แก้ไขจาก “千代” มาเป็น仙臺” ถึงแม้ว่าเซนไดจะถูกเขียนเป็น "仙台" เพราะเคยมีพระพุทธรูปนับพันอยู่ข้างปราสาท แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น "千代”

F-5. ชื่อเรียกแคว้นเซนไดถูกใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด

ไม่มีชื่อทางการของดินแดนที่เรียกว่า “ฮัน (แคว้น)” ในยุคสมัยรัฐบาลโทกุงาวะ ในชื่อเรียกดินแดนของไดเมียวคนอื่น ๆ นั้น จะใช้ชื่อสถานที่ ถ้าหากเป็นตระกูลดาเตะจะเรียกกันว่า เซนไดเรียว ชื่อทางการที่เรียกว่า “ฮัน” นั้น มีการกำหนดดินแดนรัฐบาลโชกุนสมัยเก่าเป็น ฟุ และ เคน ขณะขึ้นศักราชใหม่เป็นยุคสมัยเมจิปี 1868 และเริ่มต้นเมื่อมีการบัญญัติ “ระบบการปกครองทั้งสามฟุเคนฮัน” ซึ่งจะให้ดินแดนของไดเมียวอื่น ๆ เป็น ฮัน โดยดินแดนเซนไดเรียวได้กลายเป็นหน่วยการปกครองที่เรียกว่า เซนไดฮัน (แคว้นเซนได) แทนในปี 1869 และได้กลายมาเป็นเซนไดเคน (จังหวัดเซนได) เนื่องด้วยการเปลี่ยนมาใช้ระบบปกครองแบบจังหวัดทั่วประเทศในปี 1871 ดังนั้น วิธีการเรียกที่ว่า “เซนไดฮัน (แคว้นเซนได)” และ “ฮันชุ (ผู้ครองแคว้น)” ก่อนยุคสมัยเมจินั้นเป็นวิธีการเรียกที่ผิด แต่มีการใช้กันจนชินมาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากความสะดวกในการเรียกชื่อโดยรวมที่แสดงถึงระบบการปกครองในสมัยรัฐบาลโทกุงาวะ

F-6. โปรดบอกเกี่ยวกับอุปกรณ์การรบและอาวุธที่ใช้ในแคว้นเซนได

ชุดเกราะเซนไดซึ่งเป็นอุปกรณ์การรบของแคว้นเซนไดนั้นมีชื่อเสียงอย่างมากโดยเรียกกันว่า “โกะไมโด (ชุดเกราะโลหะห้าชั้น)” เนื่องจากส่วนลำตัวประกอบไปด้วยแผ่นเหล็ก 5 แผ่น โดยเกราะของตระกูลดาเตะจะทาด้วยน้ำรักสีดำทั้งหมด ซึ่งกระบวนการในการสร้างนั้น หลังจากที่ทดลองยิงด้วยปืนที่ด้านหน้าของหมวกเกราะและลำตัวแล้ว จะนำมาใช้เฉพาะเกราะที่สามารถทำให้ลูกกระสุนเด้งหลับมาได้เท่านั้น อีกทั้ง ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับอุปกรณ์การรบและอาวุธอีกด้วย เช่น ปืนสั้นที่ใช้บนหลังม้าและปืนไฟที่เรียกว่า ปืนเซนได

F-7. “คุณธรรมหลัก 5 ประการของดาเตะ มาซามูเนะ” เป็นผลงานของดาเตะ มาซามูเนะหรือ

ไม่พบหลักฐานในเอกสารบันทึกที่เกี่ยวข้องกับตระกูลดาเตะสำหรับ “เทซังมาซามูเนะโคอิคุน” หรือ “เซนไดโคมงมาซามูเนะเคียวอิคุน” ซึ่งทั้งสองนี้มักถูกอ้างว่าเป็น “คุณธรรมหลัก 5 ประการของดาเตะ มาซามูเนะ” ดังนั้น สิ่งที่หยิบยกคุณธรรมหลัก 5 ประการนั้นจำกัดอยู่ในจำนวนที่น้อยมาก ทั้งหมดเป็นที่รู้จักกันในฐานะคติความเชื่อของชาวคฤหาสน์ และไม่มีข้อพิสูจน์ เช่น แหล่งที่มาและวันเดือนปี ทำให้ถูกปฏิเสธสำหรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ “เซนไดโคมงมาซามูเนะเคียวอิคุน : มนุษยธรรมมากเกินไปจะทำให้คุณอ่อนแอลง ความยุติธรรมมากเกินไปจะทำให้คุณแข็งกระด้างมากขึ้น ความสุภาพมากเกินไปจะทำให้คุณเยินยอตัวเอง ปัญญามากเกินไปจะทำให้คุณโกหก ความศรัทธามากเกินไปจะทำให้คุณสูญเสีย”

F-8. ศัตรูเก่าทั้ง 7 คน ของดาเตะ มาซามูเนะคือใคร

เนื่องจากเงื่อนไขการตั้งคำถามนั้นคลุมเครือ ทำให้ตอบได้ยาก (อ้างอิง : ตัวอย่างหนึ่งในการตอบคำถามคือ ซาตาเกะ อะชินะ โซมะ อิวากิ อิชิคาวะ ชิราคาวะ และซูกะงาวะ เป็นเซ็นโกกุไดเมียวทั้ง 7 คนในบริเวณใกล้เคียงที่ต่อสู้กับดาเตะ มาซามูเนะในช่วงเวลาเดียวกันด้วยการจัดตั้งกองทัพพันธมิตร ฯลฯ

F-9. โปรดบอกเกี่ยวกับกลุ่มข้ารับใช้ของตระกูลดาเตะ

กลุ่มข้ารับใช้ของตระกูลดาเตะนั้นมีการจัดตั้งตามลำดับและจัดอันดับโดยเริ่มจากข้ารับใช้ระดับล่างที่เรียกว่า คุมิชิ (พลทหาร) ข้ารับใช้ระดับกลางที่เรียกว่า เฮชิ หรือ ไดฮังชิ และข้ารับใช้ระดับสูงเช่น อิจิมง อิกกะ จุนอิกกะ อิจิโซะคุ ชุคุโร จักคุสะ ทาจิอูเอะ และเมชิอิสึ เป็นต้นเพื่อควบคุมดูและและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย

F-10. ดาเตะ มาซามูเนะมีพี่น้องหรือไม่

ดาเตะ มาซามูเนะมีน้องชายชื่อโคจิโร่ และน้องสาว 2 คนที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งในปี 1590 ดาเตะ มาซามูเนะได้ขับไล่มารดาโฮะชุอินที่ได้วางแผนออกรบที่โอดาวาระไปยังยามางาตะในคดีพยายามลอบวางยาพิษมาซามูเนะ อีกทั้ง น้องชายโคจิโร่ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ครอบครัวร้าวฉานก็ได้ถูกลงโทษและเสียชีวิตเมื่ออายุ 13 ปี

F-11. โปรดบอกเกี่ยวกับสงครามของดาเตะ มาซามูเนะ

สงครามหลักของดาเตะ มาซามูเนะคือ การประชันกับกองกำลังพันธมิตรของตระกูลซาตาเกะและอะชินะที่สมรภูมิฮิโตะโทริบาชิ อำเภออาดาจิ (จังหวัดฟุคุชิมะ) ในปี 1585 และการประชันกับอะชินะ โยชิฮิโระที่สมรภูมิซูริอาเกะฮาระที่ตีนเขาบันไดในปี 1589 รวมถึงการออกรบเพื่อยับยั้งการก่อการจลาจลของคะไซ โอซากิตามคำสั่งของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิในปีเดียวกัน การส่งทหารไปสู้รบที่เกาหลีกินเวลา 2 ปีตั้งแต่ปี 1592 การยึดพื้นที่ปราสาทชิโระอิชิของอูเอะสึกิ คาเกะคัตสึตามคำสั่งของโทกุงาวะ อิเอยาสุ ในปี 1600 การล้อมโอซากะในฤดูหนาวในปี 1614 และการล้อมโอซากะในฤดูร้อนในปี 1615

F-12. โปรดบอกเกี่ยวกับตระกูลดาเตะก่อนหน้าดาเตะ มาซามูเนะ

จากแผนภูมิแสดงการสืบสายเลือดของตระกูลดาเตะที่จัดทำขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 18 พบว่าโทโมะมูเนะที่ได้กลายเป็นต้นตระกูลดาเตะนั้นเป็นลูกหลานของฟูจิวาระ โนะ ยามะคาเกะ อาศัยอยู่ที่นาคามูระ อิซาโอะ อำเภอมาคาเบะ ฮิตาจิโนะคุนิ (เมืองชิโมะดาเตะ จังหวัดอิบารากิ และเมืองมาโอกะ จังหวัดโมะโอกะ จังหวัดโทชิงิ) และใช้ชื่อสกุลว่านาคามูระในช่วงแรก ต่อมาในปี 1189 โทโมะมูเนะได้ใช้ชื่อสกุลดาเตะโดยได้รับอำเภอดาเตะ (จังหวัดฟุคุชิมะ) จากความดีความชอบทางทหารโดยการพิชิตโอะชูของมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ตระกูลดาเตะได้รับมือกับสถานการณ์การเมืองร่วมกับรัฐบาลคามาคูระและรัฐบาลมุโรมาจิ เมื่อถึงยุคเซ็นโกกุ ทาเนมูเนะรุ่นที่ 14 ได้ปกป้องโอะชู และฮารุมูเนะรุ่นที่ 15 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโอชูทันไดในเวลาต่อมา ทั้งสองคนใช้ตำแหน่งนี้ในการขยายอิทธิพลไปยังโอะชูและได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในฐานะไดเมียว

F-13. โปรดบอกเกี่ยวกับชีวิตของดาเตะ ทาดามูเนะ (ผู้ครองแคว้นคนที่ 2)

ดาเตะ ทาดามูเนะเกิดที่โอซากะในฐานะลูกชายคนรองของดาเตะ มาซามูเนะในปี 1599 และสืบทอดตระกูลดาเตะด้วยวัย 38 ปี จนได้กลายเป็นผู้ครองแคว้นคนที่ 2 ในปี 1636 ทาดามูเนะได้ปกครองแคว้นด้วยบุคลิกที่มีความละเอียดอ่อนและความรักในการธำรงไว้ซึ่งกฎหมาย ได้ทำผลงานด้านการปกครองไว้มากมาย เช่น การก่อสร้างนิโนะมารุของปราสาทเซนได การสำรวจแปลงที่ดินทั้งหมดและการกำหนดภาษีที่ดินในยุคคันเอ เป็นต้น จนถึงแก่กรรมด้วยวัย 60 ปีในวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 1658

F-14. โปรดบอกเกี่ยวกับชีวิตของดาเตะ สึนามูเนะ (ผู้ครองแคว้นคนที่ 3)

ดาเตะ สึนามูเนะเกิดที่ปราสาทเซนไดนิโนะมารุในฐานะลูกชายคนที่ 6 ของดาเตะ ทาดามูเนะในปี 1640 และสืบทอดตระกูลดาเตะด้วยวัย 19 ปี จนได้กลายเป็นผู้ครองแคว้นคนที่ 3 ในปี 1658 ขณะอายุได้ 21 ปี ได้ถูกสั่งให้หนีออกไปจากสังคมโดยรัฐบาลในช่วงปี 1661 และลูกชายคาเมะจิโยะ (สึนามูระผู้ครองแคว้นคนที่ 4) ก็ได้สืบทอดตระกูลดาเตะด้วยวัย 2 ขวบ จนดาเตะ มูเนะคัตสึนำไปสู่ดาเตะ โซโด” (เหตุความไม่สงบแห่งดาเตะ) ในภายหลัง สึนามูเนะหลังเกษียนอายุ ได้ใช้ชีวิตโดยการเขียนบทกวี เขียนภาพวาดและอักษรที่เขียนด้วยพู่กัน

F-15. ที่ปราสาทเซนไดมีคนอาศัยอยู่กี่คน

ที่ปราสาทเซนไดนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ “ส่วนหน้า” สำหรับเป็นคฤหาสน์พักสำหรับข้าราชการชั้นสูงให้ผู้ปกครองได้ดำเนินงานด้านบริหารของรัฐบาลและ “ส่วนหลัง” สำหรับเป็นคฤหาสน์พักส่วนตัวให้ครอบครัวของผู้ครองแคว้นใช้ชีวิต ซึ่งที่ “ส่วนหลัง” นั้น สันนิษฐานว่ามีผู้หญิงประมาณ 100 คน ตั้งแต่หญิงอาวุโสไปจนถึงหญิงรับใช้ทำงานอยู่

F-16. ปราสาทเซนไดเป็นปราสาทแบบใด

จากการรายงานของเซบาสเตียน วิซไคโนนักการทูตชาวสเปนที่ได้มาเยี่ยมชมปราสาทเซนไดในเดือนตุลาคม ปี 1605 ได้บันทึกไว้ว่า “ปราสาทเซนไดเป็นปราสาทที่ประณีตและแข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น…” ซึ่งปราสาทเซนไดเป็นปราสาทบนภูเขาที่ให้ความสำคัญในเรื่องการทหาร รอบล้อมด้วยแม่น้ำฮิโรเสะ มีการสร้างป้อมปราการอยู่บนหน้าผาและเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่ไม่จำเป็นต้องมีหอคอยปราสาท

F-17. ทำไมจึงไม่มีปราสาทเซนได

สถาปัตยกรรมในปราสาทเซนไดมีเพียงซุ้มประตูและป้อมปราการหลงเหลืออยู่เท่านั้นเนื่องจากการรื้อถอนและเกิดเพลิงไหม้จากความประมาทในสมัยเมจิ แต่ก็ถูกเผาไหม้ทั้งหมดจากสงครามทางอากาศเซนไดในปี 1945 อนึ่ง ป้อมปราการในปัจจุบันนั้นเป็นป้อมปราการที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ช่วงหลังสงคราม

F-18. ทำไมจึงมีวิธีการนับรุ่นของหัวหน้าตระกูลดาเตะสองแบบคือ “世” และ “代”

ในตระกูลดาเตะนั้น จะเรียกหัวหน้าตระกูลรุ่นก่อน ๆ เป็น “世” และนับรุ่นแรกโดยเขียนแสดงสำหรับโทโมะมูเนะซึ่งเป็นต้นตระกูลดาเตะว่ารุ่นที่ 1 (1世) (F-12) และสำหรับมาซามูเนะซึ่งเป็นหัวหน้าตระกูลรุ่นที่ 17 นับตั้งแต่โทโมะมูเนะว่ารุ่นที่ 17 (17世) เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการเขียนแสดงรุ่น

F-19. โปรดบอกเกี่ยวกับบทกวีที่แต่งก่อนสิ้นใจของดาเตะ มาซามูเนะ

จาก “บันทึกเทซังโคจิกะคิโระคุ” (เอกสารเก่าที่บันทึกเกี่ยวกับการเมืองของดาเตะ มาซามูเนะ)” มีเขียนบันทึกไว้ว่า “ดาเตะ มาซามูเนะเสียชีวิตเมื่ออายุ 70 ปี และมีกลอนทังกะที่แต่งก่อนสิ้นใจว่า “ฉันใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายที่มืดมนและไม่อาจคาดเดาได้โดยอาศัยแสงของดวงจันทร์ที่ไม่มีแม้แต่เมฆลอยอยู่ในใจ” (อ้างอิง : บันทึกเทซังโคจิกะคิโระคุม้วนที่ 39, ทำขึ้นเมื่อปี 1703) อีกทั้ง จาก “บันทึกมาซามูเนะ” (จัดทำขึ้นโดยดาเตะ ชิเงะซาเนะเมื่อปี 1642) บันทึกไว้โดยใช้บทกวีเดียวกันแต่เลือกใช้คำต่างกัน ซึ่งทั้งสองบทกวีถือเป็นบทกวีที่แต่งก่อนสิ้นใจของดาเตะ มาซามูเนะ

← กลับไปยังรายการ